วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์เส้นทางสายไหม

อดีตกาล

      เส้นทางสายไหม ( Silk Road ) เป็นเส้นทางโบราณที่ใช้เดินทางคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีนกับทวีปยุโรป เส้นทางสายไหม เกิดขึ้นมาร่วมหลายพันปีแล้ว เป็นเส้นทางการค้าที่มีโครงข่ายโยงใยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ.220) ในรัชสมัยของฮั่นอู่ตี้  เส้นทางสายไหมเป็นช่องทางสำคัญที่กระจายอารยธรรมโบราณของจีนไปสู่ตะวันตก และเป็นสะพานเชื่อมในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับตะวันตกด้วย เส้นทางสายนี้มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาวเอเซียเป็นอย่างมาก 

คำว่าเส้นทางสายไหม ( Silk Road ) เกิดขึ้นได้อย่างไร

         คำว่า "เส้นทางสายไหม" หรือ "Silk Road" เพิ่งถูกเรียกอย่างเป็นทางการในกลางศตวรรษที่ 19 โดยนักปราชญ์ชาวเยอรมัน ชื่อว่า Baron Ferdinand von Richthofen เขาเป็นผู้บัญญัติชื่อนี้ขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ ถึงแม้จะมีคนพยายามเรียกเป็นอย่างอื่น อย่างเส้นทางหยก เส้นทางอัญมณี เส้นทางพุทธศาสนา เป็นต้น  เส้นทางนี้ เริ่มจากทางตะวันออกที่เมืองฉางอันหรือซีอันในปัจจุบันของประเทศจีนไปสิ้นสุดที่ยุโรป ณ เมืองคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) สินค้าที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าไหมจีน, แก้ว, เพชรพลอย, เครื่องเคลือบดินเผา, พรม เป็นต้น แต่เส้นทางนี้ก็ได้ถูกเลิกใช้ไปเพราะเกิดสงคราม 



เส้นทางสายไหมคือเส้นทางจากที่ใด ไปที่ใด
  
         เส้นทางสายไหมที่ผู้คนกล่าวถึงบ่อย ๆ นั้น หมายถึง เส้นทางบกที่จางเชียนในสมัยซีฮั่นของจีนสร้างขึ้น เส้นทางนี้เริ่มจากทางตะวันออกที่เมืองฉางอันหรือซีอันในปัจจุบันของประเทศจีนไปสิ้นสุดที่ทางทิศตะวันตกของกรุงโรม ระยะทางทั้งหมดถึง 7,000 กิโลเมตร และ เส้นทางกว่า 5,000 กิโลเมตร ในจำนวนดังกล่าวนั้นอยู่ในดินแดนของประเทศจีน ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าเส้นทางสายไหม เส้นทางหลัก ๆ นั้นจะอยู่ในประเทศจีน
เส้นทางบกสายนี้มีเส้นทางแยกสาขาเป็นสองสายไปทางทิศใต้และทางทิศเหนือของจีนและจากเมืองหลักของแต่ละเส้นทางจะมีเส้นทางแยกย่อยออกไปเหมือนเครือข่ายใยแมงมุม ซึ่งมีการแปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, วัฒนธรรมในแต่ละยุค 

  เส้นทางทิศใต้จากเมืองตุนหวงไปสู่ทางตะวันตกโดยออกทางด่านหยางกวนผ่านภูเขาคุนหลุนและเทือกเขาชงหลิ่นไปถึงต้าเย่ซื่อ ( แถวซินเจียงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ) อันซิ ( อิหร่านในปัจจุบัน ) เถียวซื่อ ( คาบสมุทรอาหรับปัจจุบัน) ซี่งอยู่ทางตะวันตก ไปถึงอาณาจักรโรมัน 

         ส่วนเส้นทางทิศเหนือจากเมืองตุนหวงไปสู่ทางตะวันตกโดยออกด่านอวี้เหมินกวน ผ่านเทือกเขาด้านใต้ของภูเขาเทียนซานและเทือกเขาชงหลิ่น ผ่านต้าหว่าน คางจวี ( อยู่ในเขตเอเซียกลางของรัสเซีย ) แล้วไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ สุดท้ายรวมกันกับเส้นทางทิศใต้ เส้นทางสองสายนี้เรียกว่า“เส้นทางสายไหมทางบก”

       การเปิดใช้เส้นทางสายไหมไม่เพียงแต่ทำให้เขตซินเจียงที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล มีทางเชื่อมติดต่อกับเขตแดนชั้นในของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกทางหนึ่ง ในการกระชับความสัมพันธ์ทาง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างเขตแดนชั้นในของจีนกับซินเจียง โดยเฉพาะกับเอเซียกลางและเอเซียตะวันตกด้วย ดังนั้น จึงมีการค้นพบโบราณวัตถุมีคุณค่าจำนวนมากปรากฏตามเส้นทางสายไหมนี้ เช่น เมืองโบราณ สุสานในสมัยโบราณ กำแพงเมืองจีนเก่าแก่ วัดวาอารามและถ้ำผา เป็นต้น ดังนั้นเส้นทางสายไหมจึงได้แสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ เส้นทางสายไหมจึงเป็นแหล่งขุมทรัพย์ความรู้ทางโบราณคดีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนในยุคหลัง
      
ปัจจุบันเส้นทางสายไหมแห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งความรู้ทางโบราณคดีและมนุษยวิทยาแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจีนอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของเส้นทางสายไหม



อ้างอิงจาก  guru.google.co.th/guru/thread?tid=097ffd4a796a8b4a